ทำไมเราต้องเสียภาษี ?

         ภาษี คือ เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐหรือสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐเรียกเก็บจากราษฎร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การประชาสงเคราะห์ การป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ สร้างสาธารณูปโภค รวมไปถึงเงินเดือนของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ทำหน้าที่บริการประชาชน และใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ของสถานราชการต่างๆ เรียกได้ว่าการเรียกเก็บภาษีจากราษฎร เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในการบริหารประเทศ เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการตามหน้าที่ที่มีต่อประชาชน ในการดูแลความผาสุขของประชาชน และ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ภาษีที่ต้องยื่นประจำเดือน

ภาษีเงินได้

INCOME TAX

     ตามประมวลรัษฎากร  มีหลักการจัดเก็บจากกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการ  หรือเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี  ( ตามปกติมีกำหนด 12 เดือน ) นอกจากวิธีการจัดเก็บตามหลักการดังกล่าว  ยังมีวิธีการจัดเก็บภาษีโดยวิธีอื่นอีก คือ

  • เก็บจากยอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือเก็บจากค่าโดยสาร ค่าระวางฯ ของกิจการขนส่งระหว่างประเทศ หรือ
  • เก็บจากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ ฯลฯ เป็นต้น

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

WITHOLDING TAX

    ภาษีที่ต้องจ่ายภายในทันที ที่มีรายได้ แต่นิติบุคคลผู้จ่าย จะเป็นผู้หักภาษีหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร แทนผู้มีเงินได้ นั่นทำให้ผู้รับเงินไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน แต่จะได้เงินบวกกระดาษแผ่นนึงที่เรียกว่า “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” ส่วนผู้จ่ายเงินยังต้องจ่ายเต็ม เพียงแต่จ่ายให้กับผู้รับเงินโดยตรงส่วนนึง แล้วให้สรรพากรอีกส่วนนึง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

VAT

    เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน